โรคคอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรม


โรคคอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรม (computer vision syndrome)


          คนที่ทำงานอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ติดต่อกันเป็นเวลานานๆ เช่น เกินสองถึงสามชั่วโมง มักจะมีอาการปวดตา แสบตา ตามัว และบ่อยครั้งที่จะมีอาการปวดหัวร่วมด้วย อาการทางสายตาเหล่านี้เกิดจากการจ้องดูข้อมูลบนคอมพิวเตอร์ติดต่อกันเป็นเวลานานเกินไป เรียกกลุ่มอาการเหล่านี้ว่า "คอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรม" (computer vision syndrome) หรือ "โรคซีวีเอส" อาการเหล่านี้พบได้ถึงร้อยละ 75 ของบุคคลที่ใช้คอมพิวเตอร์ โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปี อาการในบางคนอาจเป็นเล็กๆ น้อยๆ ไม่บั่นทอนการทำงาน หรือพักการใช้คอมพิวเตอร์สักครู่ก็หายไป บางคนอาจต้องว่างเว้นการใช้เป็นวันก็หายไป บางรายอาจต้องใช้ยาระงับอาการ

สาเหตุของโรคคอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรม

          1.ผู้ใช้คอมพิวเตอร์ไม่ค่อยกระพริบตา ปกติแล้วเราทุกคนจะต้องกระพริบตาอยู่เสมอ เป็นการเกลี่ยน้ำตาให้คลุมผิวตาให้ทั่วๆ โดยมีอัตราการกระพริบ 20 ครั้งต่อนาที หากเราอ่านหนังสือหรือนั่งจ้องคอมพิวเตอร์ อัตราการกระพริบจะลดลง โดยเฉพาะการจ้องคอมพิวเตอร์การกระพริบตาจะลดลงกว่าร้อยละ 60 ทำให้ผิวตาแห้ง ก่อให้เกิดอาการแสบตา ตาแห้ง รู้สึกฝืดๆ ในตา
          2.แสงจ้า และแสงสะท้อนจากจอคอมพิวเตอร์ ทำให้ตาเมื่อยล้า ทั้งแสงจ้าและแสงสะท้อนมายังจอภาพ อาจเกิดจากแสงสว่างไม่พอเหมาะ มีไฟส่องเข้าหน้าหรือหลังจอภาพโดยตรง หรือแม้แต่แสงสว่างจากหน้าต่างปะทะหน้าจอภาพโดยตรง ก่อให้เกิดแสงจ้าและแสงสะท้อนเข้าตาผู้ใช้ ทำให้เมื่อยล้าตาง่าย
          3.การออกแบบและการจัดภาพ ระยะทำงานที่ห่างจากจอภาพให้เหมาะสม ควรจัดจอภาพให้อยู่ในระยะพอเหมาะที่ตามองสบายๆ ไม่ต้องเพ่ง โดยเฉลี่ยระยะจากตาถึงจอภาพควรเป็น 0.45 ถึง 0.50 เมตร ตาอยู่สูงกว่าจอภาพ โดยเฉพาะผู้ที่ใช้แว่นสายตาที่มองทั้งระยะใกล้และไกล จะต้องตั้งจอภาพให้ต่ำกว่าระดับตา เพื่อจะได้มองตรงกับเลนส์แว่นตาที่ใช้มองใกล้

          รายงานการศึกษาวิจัยเมื่อปี 2004 พบว่าปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่ทำให้เกิดโรคซีวีเอสคือ มุมของระดับสายตา (angle of gaze) กับจอคอมพิวเตอร์ อาการต่างๆ จะหายไปเมื่อมุมดังกล่าวมากกว่า 14 องศา ส่วนปัจจัยอื่นๆ จากการวิจัยพบว่าไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ

ผู้ที่มีสายตาที่ผิดปกติอยู่เดิม
          สายตาที่ผิดปกติอยู่เดิม เช่น มีสายตาสั้น ยาว หรือเอียง หรือสายตาผู้สูงอายุ ควรแก้ไขสายตาให้มองเห็นชัดที่สุด จะได้ไม่ต้องเพ่งโดยไม่จำเป็น บางคนสายตาผิดปกติไม่มาก ถ้าทำงานตามปกติจะไม่มีอาการอะไร แต่ถ้ามาทำงานกับจอคอมพิวเตอร์จะเกิดอาการเมื่อยล้าได้

          สำหรับผู้สูงอายุที่ต้องใช้แว่นสายตามองทั้งระยะไกลและใกล้ หากใช้แว่นตานั้นทำงานคอมพิวเตอร์นานๆ มีอาการปวดเมื่อยในตามาก อาจต้องปรึกษาจักษุแพทย์พิจารณาทำแว่นสายตาที่เห็นระยะจอคอมพิวเตอร์และตัวหนังสือที่เหมาะสม

          บางรายหากมีโรคบางอย่างอยู่ เช่น ต้อหินเรื้อรัง ม่านตาอักเสบ หรือแม้แต่เยื่อบุตาอักเสบ ตลอดจนโรคทางกาย เช่น โรคไซนัสอักเสบ ไข้หวัด ร่างกายทั่วไปอ่อนเพลีย จะทำให้การปรับสายตาเพื่อการมองเห็นชัด ทำให้เกิดการปวดเมื่อยนัยน์ตาได้ง่าย

อาการของโรคคอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดร
          ตาเมื่อยล้า, ตาแห้ง, แสบตา, ตาสู้แสงไม่ได้, ตาพร่ามัว, ปวดศีรษะ, ปวดเมื่อยบ่า ไหล่ คอ หรือปวดหลัง

วิธีแก้ไข
          1.ถ้ารู้สึกตัวว่าจ้องหน้าจอนานเกินไป ให้กระพริบตาให้บ่อยขึ้น หรือพักสายตาโดยการละสายตาจากคอมพิวเตอร์ หลังจากใช้ไปประมาณ 20 – 30 นาที หรืออาจใช้ยาหล่อลื่นลูกตาประเภทน้ำตาเทียม
          2.จัดแสงไฟและตำแหน่งจอภาพให้เหมาะสม อย่าให้จอภาพหันหน้าเข้าหน้าต่างหรืออยู่ตรงหน้าต่าง โคมไฟที่ส่องหน้าตรงๆ ลงมาอาจทำให้เกิดแสงจ้า น่าจะเปลี่ยนเป็นหลอดไฟที่กระจายทั่วๆ ไป หรือโคมไฟที่ส่องเฉพาะกระดาษ อย่าให้แสงปะทะกับจอภาพและตาผู้ใช้
          3.ปรับคลื่นแสงที่หน้าจอ (Refresh rate) ซึ่งเครื่องส่วนใหญ่จะปรับอยู่ที่ 60 Hz ซึ่งขนาดนี้ทำให้เกิดแสงกระพริบทำให้ภาพบนจอเต้นกระตุ้นให้เราต้องปรับตาเพื่อโฟกัสใหม่อยู่เรื่อยๆ ทำให้ตาเมื่อยล้าได้ ควรปรับความถี่ให้อยู่ระดับ 70-80 Hz จะทำให้จอภาพเต้นน้อยลง สบายตาขึ้น

การรักษาโรคคอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรม
          1.ใช้น้ำตาเทียม artificial tear หยอดตา จะสามารถช่วยบรรเทาอาการปวดตาและแสบตาได้
          2.ยาหยอดตาชนิดที่ทำมาจากสมุนไพร (itone) มีรายงานการศึกษาวิจัยจากประเทศอินเดียในผู้ป่วย 120 ราย เทียบกับน้ำตาเทียมและยาหลอก พบว่าได้ผลดีกว่าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
   
          ในประเทศอังกฤษ ผลการวิจัยพบว่าการใช้ยาหยอดตาชนิด povidone 2% preservative-free ในผู้ที่ใส่เลนส์สัมผัส ช่วยบรรเทาอาการได้ดีมาก และแนะนำให้หยอดตาเมื่อมีอาการ ไม่จำเป็นต้องหยอดตาเป็นช่วงเวลา

ข้อควรปฏิบัติ

วิธีการแก้ไขที่ควรนำไปปฏิบัติมีหลายประการ เช่น

          1.ให้พักสายตาเป็นระยะๆ หลังจากทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ไปได้สัก 20-30 นาที ควรหยุดพักสายตาเป็นเวลา 2-4 นาที แล้วค่อยลืมตาขึ้นทำงานใหม่ หากสามารถปฏิบัติได้จนเป็นนิสัย ก็จะป้องกันไม่ให้เกิดกลุ่มอาการคอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรมได้
          2.การทำงานจ้องจอภาพนานเกินไป ไม่ว่าจะเกิดจากงานเร่ง หรือมีหน้าที่อยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์อย่างเดียวก็ตามย่อมเกิดอาการได้ง่าย ทุก 2 ชั่วโมงที่จ้องจอภาพควรพักสายตาประมาณ 15 นาที โดยมองออกไปไกลๆ หรือหลับตาเฉยๆ หากเป็นไปได้ควรทำงานที่จ้องจอภาพวันละไม่เกิน 4 ชั่วโมง เวลาที่เหลือไปทำงานอย่างอื่นบ้าง
          3.พิจารณาแสงสว่าง ทั้งแสงภายในห้องทำงาน และแสงสว่างจากหน้าจอคอมพิวเตอร์ โดยจัดแสงภายในห้องทำงานไม่ให้มีแสงสะท้อนมาที่จอคอมพิวเตอร์ และปรับแสงสว่างหน้าจอคอมพิวเตอร์ไม่ให้แสงจ้ามากเกินไป หลายคนทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์โดยไม่เคยปรับแสงสว่าง รวมทั้งความเข้มของแสงเลยสักครั้งเดียว
          4.นั่งห่างจากจอคอมพิวเตอร์ประมาณ 16-30 นิ้วจากดวงตา และควรให้จุดกึ่งกลางของหน้าจอคอมพิวเตอร์อยู่ต่ำกว่าระดับสายตาประมาณ 20 องศา จัดเป็นท่านั่งทำงานกับจอคอมพิวเตอร์ที่ดีที่สุด
    ระมัดระวังปัญหาปวดหลัง ปวดไหล่ ปวดคอ ที่มักเกิดขึ้นร่วมกันได้บ่อยๆ

Cr. ศูนย์ข้อมูลสุขภาพกรุงเทพ


ขอบคุณแหล่งข้อมูลจาก : http://bit-of-knowledge.blogspot.com/

Share this

Related Posts